วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พาไปนั่งชิวๆ กับรถม้าที่ลำปาง



ใครอยากไปเที่ยวชมรถม้าลำปางยกมือขึ้นครับ…

ถ้าใครอยากไป ก็ขึ้น " ไทม์แมชีน " ย้อนยุคได้เลย นัดขึ้นรถด่วนเชียงใหม่ที่หัวลำโพงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘



เรานอนในขบวนรถ ๑ คืน แล้วนั่งรถอีกครึ่งวัน สมัยก่อน รถวิ่งช้าหน่อยครับ รถไฟแวะเติมน้ำเติมฟืนตลอดทาง ทำใจเย็นๆ มองนอกหน้าต่างสิ สองข้างทางน่าดูออก อ้า… ถึงแล้วครับ เราพากันลงที่สถานี นครลำปาง

นั่นไง… เจอแล้ว " รถม้าลำปาง " จอดรอรับที่หน้าสถานีเป็นแถวเลย…




ที่ลำปางในปัจจุบัน [ หรือเขลางนครในอดีต ] ทุกหนทุกแห่งบนท้องถนน ทั้งคนท้องถิ่นและอาคันตุกะไม่มีวันจะหลีกรถม้าได้เลย ไม่ว่าจะเป็นตรอก , ซอก , ซอย , หรือถนนใหญ่ ฉะเพาะอย่างยิ่งสถานีรถไฟ , ตลาดสด , และโรงภาพยนต์ อันเป็นย่านชุมชน จะมีรถม้าจอดรอรับผู้โดยสารอยู่เป็นทิวแถว

รถม้าจึงได้กลายเป็น " สัญลักษณ์ " อย่างหนึ่งของลำปาง เพราะเกือบจะกล่าวได้ว่าในเมืองไทย , ไม่มีรถม้าที่ไหน " เหลืออยู่ " อีกแล้ว

ชีวิตประจำวันของคนรถม้าลำปางเป็นชีวิตที่น่าเห็นใจ เพราะต้อง " ตื่นก่อนและนอนทีหลัง " ตามแบบฉบับของผู้ที่เกิดมาเพื่อรับใช้ประชาชน

ชาวรถม้าที่นำรถออกตระเวนรับส่งผู้โดยสารเป็นประจำวันนั้น ต้องตื่นแต่ก่อนไก่และต้องนึกถึงท้องของสัตว์คู่ยากก่อนท้องของตัวเอง ฉะนั้นม้าทุกตัวก่อนจะนำไปเทียมรถจะต้องป้อนอาหารให้อิ่ม เพราะม้าก็เช่นเดียวกับกองทัพซึ่งนโปเลียนบอกว่าต้อง " เดินด้วยท้อง "

ลำปางก็เหมือนจังหวัดอื่นๆ ที่เจริญแล้วทั้งหลาย มีรถยนต์ [ ทั้งเก๋งโอ่อ่าและจิ๊ปหลังสงคราม ] มีสามล้อ , มีจักรยาน [ ทั้งติดเครื่องและเท้าถีบ ] อยู่มากมาย แม้กระนั้นแล้ว " รถม้า " ก็ยังเป็นที่นิยมของผู้โดยสารอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะว่า , ชาวลำปางรู้อยู่ท่วมหัวใจว่า รถม้าเป็นสมบัติของท้องถิ่น , เป็นอาชีพของชาวลำปางเอง

ที่หมู่บ้านพรหมินทร์และสิงห์ชัยแถบฝั่งแม่น้ำวังนั้น เป็นศูนย์กลางของรถม้า ผลิตขึ้นที่นั่น , มีโรงงานซ่อมที่นั่น และพูดได้ว่าเป็นหมู่บ้าน " รถม้า " ล้วนๆ ทุกหลังคาเรือนยังชีพอยู่ด้วย " รถม้า " ทั้งนั้น

ออกจากบ้านแต่อรุณยังไม่ฉาบขอบฟ้า กลับมาก็ย่ำสนธยา โดยที่คนขับและม้าต่างก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามาตลอดวัน พอกลับถึงบ้าน , เจ้าของก็จะนำ " นักวิ่งทนที่ไม่มีวันตับแตกตาย " เดินวนเวียนไปรอบๆ ลานบ้านอันร่มรื่น เพื่อให้รับลมเย็น - จนเหงื่อแห้งแล้วพาไปอาบน้ำ จากนั้นก็ถึงเวลาอาหารมื้อเย็น - หมดภาระไปวันหนึ่ง

รถม้าทุกคัน เจ้าของจะมีม้าไว้สองตัวเพื่อสับเปลี่ยนกัน " ไอ้ผ่าน " วิ่งรอบกลางวัน - ตกกลางคืนก็ได้พักและตกเป็นหน้าที่ของ " ไอ้เมฆ " ที่จะต้องวิ่งทนแทนบ้าง

ที่บ้านพรหมินทร์และสิงห์ชัย อันเป็นนิคมของชาว " รถม้า " ทุกหลังคาเรือนจะมีรถม้าเป็นสมบัติส่วนตัว… มีบ้านแบบไตยวน [ คนเมือง ] เป็นที่พักอาศัย… มีลูกหลานสืบสกุลและรับมรดก " รถม้า " ผู้ชายก็ทำหน้าที่สารถี… ผู้หญิงรับภาระทางบ้าน… ที่ยังเด็กเล็กและวัยรุ่นก็ช่วยกันจัดหาอาหารให้ม้า หรือฝึกหัดที่จะรับหน้าที่แทนผู้ใหญ่ต่อไป

ด้วยประการฉะนี้เอง , รถม้าลำปางจึงยังคงมีอยู่ - และจะต้องมีอยู่ตลอดไป ผิดกับท้องถิ่นอื่นซึ่งแม้ครั้งหนึ่งจะเคยมี - แต่บัดนี้แม้แต่ซากก็ไม่มีเหลือแล้ว…

เพราะเหตุที่ " รถม้า " ต้องอาศัยแรงม้าจริงๆ ไม่ใช่ " แรงม้า " ที่เป็นเครื่องยนต์เยี่ยงยานยนต์สมัยใหม่ ดังนั้น , เมื่อว่างจากงานประจำวัน หน้าที่ของ " คนทางบ้าน " ก็คือตระเตรียมอาหารสำหรับม้าไว้ให้พรักพร้อม อาหารประจำอันเปรียบประหนึ่ง " น้ำมันเชื้อเพลิง " ของม้ามีฟางแห้งที่หั่นหยาบๆ ผสมกับรำอ่อนคลุกน้ำ เพื่อให้กินสะดวก , ย่อยง่าย , และอิ่มทน

งานจัดอาหารม้าประจำวันเช่นนี้ " คนทางบ้าน " ซึ่งบางทีก็ลูกหรือหลานก็รับเอาไปจัดเตรียมไว้ไม่มีขาดตกบกพร่อง เพราะเป็น " หน้าที่ " อย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน…


กลางหมู่บ้านอันเป็น " นิคม " ของรถม้าลำปางนั้น มีโรงงานสร้างและซ่อมรถม้าอยู่เป็นประจำ ส่วนประกอบทุกชิ้นล้วน Made in Lampang ทั้งสิ้น โดยมีนายช่างผู้ชำนาญและผ่านการประกอบอาชีพขับขี่ " รถม้า " มาแล้วนับสิบปี เป็นผู้อำนวยการและดำเนินการสร้าง - ซ่อมชิ้นส่วนประกอบทุกชิ้นของรถม้าขึ้นมาด้วยมือของเขาเองทั้งสิ้น

รถม้าทุกคันที่กระจายอยู่ทั่วเวียงลำปาง รับผู้โดยสารเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า นับเป็นเวลา ๔๐ ปีเศษมาแล้ว ก็ล้วน " ผลิต " จากหมู่บ้านพรหมินทร์และสิงห์ชัยนี่เอง…


เมื่อประกอบเป็นตัวรถแล้ว… มีม้าใหม่ไม่เคยเทียมรถและวิ่งทนมาก่อน ก็จำเป็นต้องฝึกหัดให้มันคุ้นคนและท้องถนนเสียก่อน โดยจัดเทียมรถมีสารถีและผู้โดยสาร [ สมมุติ ] แล้วมีคนจูงบังเหียนพามันออกวิ่งวนเวียนไปตามถนนสายต่างๆ ฝึกกันอยู่เช่นนั้น , วันแล้ววันเล่าจนกว่าม้าจะคุ้นกับ " งาน " ของมันและเข้าใจ " สัญญาณ " จากนายสารถีเพียงพอ จึงจะออกวิ่งรับส่งผู้โดยสารหากินได้ต่อไป ไม่ใช่ว่ามีม้าเอาเข้าเทียมรถแล้วก็ใช้ได้ ชีวิตของ " รถม้าลำปาง " เริ่มต้น และเป็นมาเช่นนี้เอง

เป็นยังไงครับ คงพอเข้าใจชีวิต " คนรถม้า " ในอดีตกันพอสมควรนะครับ ตอนนี้ เข้า " ไทม์แมชีน " กลับบ้านกันดีกว่าครับ หากใครไปเที่ยวลำปางในปัจจุบัน อย่าลืมอุดหนุน " รถม้าลำปาง " กันบ้าง เพื่อต่อชีวิตสัญลักษณ์เมืองลำปางเอาไว้นานๆ ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น